สุสานหลวง
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย
เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๗ แห่งบรมราชจักรีวงศ์
ซึ่งถือว่าเป็นวัดแห่งเดียวของกรุงรัตนโกสินทร์
ที่เป็นวัดประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ถึง ๒ พระองค์
วัดราชบพิธฯ แบ่งเขตพื้นที่ภายในวัดออกเป็น ๓ ส่วน
คือ เขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และเขตสุสานหลวง
เขตพุทธาวาส ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของวัด
คือบริเวณที่เป็นสิ่งก่อสร้างอันเนื่องในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตั้งอยู่บนพื้นไพทีหรือยกพื้นสูงกว่าพื้นปกติ ปูด้วยหินอ่อน
เขตสังฆาวาส ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของวัด
คือบริเวณที่เป็นอาคารจำพรรษาของพระภิกษุสามเณร
เขตสุสานหลวง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวัด
เขต “สุสานหลวง” ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวัดนั้น
ติดกับถนนอัษฎางค์ ริมคลองคูเมืองเดิม
โดยตั้งอยู่นอกเขตกำแพงมหาสีมาธรรมจักรของวัด
แต่เดิมสุสานหลวงมีพื้นที่อาณาบริเวณกว้าง ๔ ไร่กว่า
ต่อมาในสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย
ทางผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และทางกรุงเทพมหานคร
ได้ตัดถนนอัษฎางค์ซึ่งกินพื้นที่สุสานหลวงไปบางส่วน
จนกระทั่งปัจจุบันสุสานหลวงเหลือพื้นที่เพียง ๒ ไร่ครึ่งเท่านั้น
ป้ายชื่อสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
“สุสานหลวง” วัดราชบพิธฯ เป็นสุสานหลวงแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ผู้เป็นพระปิยมหาราชของปวงชนชาวไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างอนุสาวรีย์ในเขตสุสานหลวงขึ้นเป็นที่บรรจุพระอัฐิ (กระดูก)
และพระสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) เพื่ออุทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชเทวี
พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา ตลอดจน พระราชโอรส พระราชธิดา
พระราชนัดดา และพระราชปนัดดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้ผู้ที่มีความรักใคร่ห่วงใยอย่างใกล้ชิด
คือ พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา ตลอดจน
พระราชโอรส พระราชธิดา พระราชนัดดา และพระราชปนัดดา
ได้อยู่ร่วมกันหลังจากที่ได้ล่วงลับไปแล้ว
สภาพโดยทั่วไปในสุสานหลวงจะเป็นการสร้างอนุสาวรีย์
ของพระบรมราชเทวี พระราชเทวี หรือเจ้าจอมมารดา
เพื่อให้ลูกได้อยู่กับแม่ หรืออย่างน้อยในบ้านของแม่
เว้นแต่ในกรณีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาสิ้นพระชนม์ก่อนพระมารดา
ก็สร้างอนุสาวรีย์ของพระเจ้าลูกเธอพระองค์นั้นไปก่อน
สุสานหลวงที่วัดราชบพิธฯ แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์
เป็นแม่กองก่อสร้างขึ้นในที่รอบๆ ชานกำแพงด้านทิศตะวันตกของวัด
และเมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้านิลวรรณ เป็นแม่กองก่อสร้างสืบต่อมา
ทั้งนี้ มีอนุสาวรีย์บางส่วนที่พระบรมวงศานุวงศ์ทรงสร้างขึ้นในสมัยหลัง
อาจกล่าวได้ว่าเป็นสุสานหลวงสำหรับ “จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์” นั่นเอง
โดยตามความเชื่อแล้ว หลังจากพิธีเผาศพของผู้ตาย
จะมีการนำอัฐิธาตุไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์หรือสถูป
ครั้นต่อมาก็พัฒนาไปสู่การบรรจุอัฐิหรืออังคาร
ไว้ใต้ฐานพระพุทธรูปหรือตามช่องกำแพงแก้ว
ซึ่งแม้แต่พระบรมราชสรีรางคารของพระมหากษัตริย์
ก็มีการอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พุทธบัลลังก์แห่งพระพุทธปฏิมาพระประธาน
ด้วยการบรรจุอัฐิหรืออังคารไว้ตามสถานที่ดังกล่าว
จะเป็นการกระทำให้บรรดาลูกหลานในวงศ์ตระกูลใช้เป็นสถานที่เคารพบูชา
บริเวณสุสานหลวง ร่มรื่นไปด้วยไม้ดอกไม้ใบนานาพันธุ์
อนุสาวรีย์พระเจดีย์สีทอง ๔ องค์ มีลักษณะคล้ายกัน เรียงลำดับจากเหนือไปใต้
ได้แก่ สุนันทานุสาวรีย์, รังษีวัฒนา, เสาวภาประดิษฐาน และสุขุมาลนฤมิตร์
ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างอุทิศพระราชทานแก่พระมเหสีเทวี ๔ พระองค์
ลักษณะของสถาปัตยกรรมของอนุสาวรีย์ต่างๆ ภายในสุสานหลวงแห่งนี้
ทำเป็นรูปแบบพระเจดีย์ พระปรางค์ พระวิหาร และอาคาร เป็นต้น
ทั้งที่เป็นศิลปะแบบยุโรป ศิลปะแบบขอม และศิลปะแบบไทย
อันเป็นพุทธศิลปแห่งหลักแนวคิดการพัฒนาเมืองไทยให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ
บริเวณสุสานหลวงได้รับการตกแต่งซ่อมแซมดูแลอย่างดีจากสำนักพระราชวัง
จึงเป็นสวนที่ร่มรื่นไปด้วยไม้ดอกไม้ใบนานาพันธุ์ หลายต้นเป็นไม้โบราณ
เช่น กล้วยทอง กรรณิการ์ สารภี เข็ม ตะแบก ลั่นทม (ลีลาวดี) เป็นต้น
ปัจจุบันถูกดัดแปลงให้มีลักษณะกึ่งสวนหย่อม กึ่งอนุสรณ์สถาน
ในวันที่ ๒๐ กันยายน ของทุกปี “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ
เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์”
(ครั้งยังมีพระชนม์ชีพอยู่) จะทรงเสด็จมาเป็นองค์ประธานในนาม
ของคณะพระราชนัดดา-ปนัดดาสายสัมพันธ์ในราชกุลรัชกาลที่ ๕
ในการบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๘
ซึ่งทั้งสองพระองค์มีวันประสูติ (วันพระราชสมภพ) ร่วมกัน
การบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายรัชกาลที่ ๘ นั้น
เป็นพระดำริในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ
ที่ทรงริเริ่มจัดถวายสังฆทานเป็นการส่วนพระองค์ในวันนี้
ทั้งนี้ พระองค์มีพระประสงค์ให้เชื้อพระวงศ์มีความรักสามัคคีกัน
โดยทุกครั้งที่เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย
จะร่วมเสวยพระกระยาหารกับพระบรมวงศานุวงศ์เพื่อถามถึงความเป็นอยู่
และหลายครั้งมีพระดำรัสให้เชื้อพระวงศ์ช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน
ในปัจจุบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
จะทรงเสด็จมาเป็นองค์ประธานในนามของคณะพระราชนัดดา-ปนัดดา
สายสัมพันธ์ในราชกุลรัชกาลที่ ๕ บำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายดังกล่าว
ปัจจุบัน อนุสาวรีย์ต่างๆ ในสุสานหลวงมีทั้งหมด ๓๔ องค์
โดยมีการจัดตั้ง “มูลนิธิจุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์” ขึ้นมา
ให้เป็นหน่วยงานกลางคอยดูแลรักษาทำนุบำรุงสุสานหลวง
ให้มีความงดงามเพื่อชนรุ่นหลังได้เข้ามาสักการะสืบต่อไป
อนุสาวรีย์อนุสรณ์สถานในเขตสุสานหลวงที่โดดเด่นเป็นสง่า
เป็นสถูปองค์หลักเป็นแนวประธาน คือ พระเจดีย์สีทอง ๔ องค์
(๑ องค์เล็ก กับ ๓ องค์ใหญ่) มีลักษณะคล้ายกันเรียงลำดับจากเหนือไปใต้ ได้แก่
สุนันทานุสาวรีย์, รังษีวัฒนา, เสาวภาประดิษฐาน และสุขุมาลนฤมิตร์
โดย ‘สุนันทานุสาวรีย์’ เป็นพระเจดีย์สีทองที่มีขนาดองค์เล็กที่สุด
ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างอุทิศพระราชทานแก่พระมเหสีเทวี ๔ พระองค์
อาจกล่าวได้ว่าพระเจดีย์สีทอง ๔ องค์เป็นสื่อความหมายอาลัยรัก
“เปิดพระโกศมิ่งมิตรพิศพักตร์ โศกสกลักทรวงไหม้ฤทัยหมอง
สะอื้นอ้อนกรกอดพระโกศทอง ชลเนตรตกต้องพระปรางนาง”
บทร้องตอนหนึ่งเมื่อครั้งเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ บุนนาค)
ได้จัดให้มีการเล่นละครเรื่องลักษณวงศ์ แสดงเฉพาะหน้าพระพักตร์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ซึ่งเข้าใจว่าบทร้องนี้ไปกระทบพระราชหฤทัยจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
พระองค์จึงสั่งห้ามมิให้ร้องอีกต่อไป และต่อมาพระองค์ทรงโปรดให้
สร้างพระเจดีย์สีทอง ๔ องค์ภายในวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
นอกจากนี้ ยังมีอนุสาวรีย์ต่างๆ ในสุสานหลวงองค์อื่นๆ ที่สำคัญหลายองค์ ดังนี้
สุสานหลวงได้รับการประดับตกแต่งภูมิทัศน์เพื่องานพระราชพิธีบรรจุพระสรีรางคาร
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ณ อนุสาวรีย์อนุสรณ์สถาน “รังษีวัฒนา”
vdo เทศนาธรรม
ฟังวิทยุธรรมะออนไลน์
สถานีวิทยุพุทธศาสนา - คลื่นธรรมะออนไลน์ หมายเหตุ : บางช่วงเวลาอาจไม่สามารถฟังผ่านออนไลน์ได้ เนื่องจากข้อมูลต้นทางอาจมีข้อขัดข้องต่าง ๆ ได้เสมอ อย่างไรก็ตามยังมีรายการธรรมะให้ฟังผ่านทางวิทยุได้อีกมากมายครับ 1. สถานีวิทยุเพื่อพระพุทธศาสนา วัดเกาะวาลุการาม จ.ลำปาง http://www.watkoh.com 2. วัดสังฆทาน ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี http://www.sanghathandhamma.com/ 3. หลวงตาบัว ญาณสัมปันโน http://www.luangta.com สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน FM103.25MHz. TV. ผ่านดาวเทียม หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด
|
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น