ผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานไปตามลำดับขั้น ได้รู้ได้เห็นธรรมชาติรวมทั้งความเป็นไปต่าง ๆ ของรูป/นาม หรือกาย/ใจ มากขึ้นเรื่อย ๆ ได้เห็นถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่น่ารักน่าใคร่น่าปรารถนา ไม่สามารถยึดมั่นถือมั่นได้เพราะไม่อยู่ในอำนาจ จึงไม่เป็นไปอย่างที่ใจต้องการ ฯลฯ จนกระทั่งจิตคลายความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงลงไปอย่างถาวร คือความยึดมั่นถือมั่นในระดับนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย เพราะเห็นชัดด้วยปัญญาของตนเองอย่างแท้จริง จนหมดความเคลือบแคลง และความลังเลสงสัยใดๆ ทั้งปวงแล้วนั้น จะได้ชื่อว่าเป็นอริยบุคคล คือบุคคลอันประเสริฐ ซึ่งจำแนกอย่างละเอียดได้ 8 ประเภท ตามลำดับขั้นของการละกิเลส หรือตามลำดับขั้นของความยึดมั่นถือมั่น
ก่อนจะกล่าวถึงอริยบุคคลขั้นต่าง ๆ นั้น จะขออธิบายถึงความเจริญก้าวหน้าในการทำวิปัสสนากรรมฐาน ตั้งแต่เริ่มต้นก่อน เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องของอริยบุคคลได้ง่ายขึ้น ดังนี้
บุคคลทั่ว ๆ ไปที่ยังมีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ อยู่อย่างปกติทั่วไปนั้นได้ชื่อว่าปุถุชน (ปุถุ แปลว่าหนา) คือชนผู้หนาแน่นด้วยกิเลสนั่นเอง ปุถุชนนั้นแบ่งได้ 2 ระดับคือ
1.) อันธปุถุชน คือปุถุชนที่มืดบอดต่อธรรมมาก จิตใจหยาบกระด้าง เป็นผู้ยากแก่การรู้ธรรม
2.) กัลยาณปุถุชน คือปุถุชนที่แม้จะยังมีกิเลสหนาแน่นอยู่ แต่จิตใจก็มีความประณีต เบาสบายกว่าอันธปุถุชน จึงเข้าถึงธรรมได้ง่ายกว่า
เมื่อบุคคลใดได้เจริญวิปัสสนากรรมฐานมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ก็จะเกิดปัญญามองเห็นธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เรียกว่าญาณขั้นต่าง ๆ (คำว่าญาณนี้เป็นชื่อของปัญญาในวิปัสสนา ต่างจากฌานซึ่งเป็นขั้นต่าง ๆ ของสมาธิ) จนกระทั่งปัญญาญาณนั้นแก่กล้าจนสามารถทำลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ อย่างถาวร อันเป็นผลให้กิเลสที่เกิดจากความยึดมั่นในขั้นนั้นถูกทำลายลงไปอย่างสิ้นเชิง จิตในขณะที่เห็นแจ้งในความที่ไม่สามารถยึดมั่นในสรรพสิ่งทั้งปวงได้อย่างชัดเจน จนสามารถทำลายกิเลสได้นี้เรียกว่ามรรคจิต ซึ่งจะเกิดขึ้นเพียงแค่ขณะจิตเดียว คือเกิดอาการปิ๊งขึ้นมาแว้ปเดียว กิเลสและความยึดมั่นในขั้นนั้นก็จะไม่เกิดขึ้นอีกเลย
บุคคลในขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้นนี้เรียกว่ามรรคบุคคล ซึ่งนับเป็นอริยบุคคลประเภทหนึ่ง
บุคคลจะเป็นมรรคบุคคลแค่เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะได้ชื่อว่าผลบุคคล คือบุคคลผู้เสวยผลจากมรรคนั้นอยู่ ไปจนกว่ามรรคจิตในขั้นที่สูงขึ้นไปจะเกิดขึ้นอีกครั้ง เพื่อทำลายความยึดมั่นและกิเลสที่ประณีตขึ้นไปอีก มรรคจิตแต่ละขั้นนั้นจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แล้วจะไม่เกิดขึ้นในขั้นเดิมซ้ำอีกเลย จะเกิดก็แต่ขั้นที่สูงขึ้นไปเท่านั้น เพราะความยึดมั่นในขั้นที่ถูกทำลายไปแล้ว จะไม่มีโอกาสกลับมาให้ทำลายได้อีกเลย
อริยบุคคล 8 ประเภทนั้นประกอบด้วยมรรคบุคคล 4 ประเภท และผลบุคคล 4 ประเภท ดังนี้คือ
1.) โสดาปัตติมรรคบุคคล คือบุคคลในขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ที่เรียกว่าโสดาปัตติมรรคจิต โสดาปัตติมรรคบุคคลนี้นับเป็นอริยบุคคลขั้นแรก และได้ชื่อว่าเป็นผู้หยั่งลงสู่กระแสพระนิพพานแล้ว มรรคจิตในขั้นนี้จะทำลายกิเลสได้ดังนี้คือ
(ในที่นี้จะใช้สัญโยชน์ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการแบ่งประเภทของกิเลส เป็นหลักในการอธิบาย - ดูเรื่องสัญโยชน์ 10 ประกอบ)
- สักกายทิฏฐิ
- วิจิกิจฉา
- สีลพตปรามาส
รวมทั้งโลภะ(ความโลภ) โทสะ(ความโกรธ, ขัดเคืองใจ, กังวลใจ, เครียด, กลัว) โมหะ(ความหลง คือไม่รู้ธรรมชาติที่แท้จริงของสรรพสิ่ง) ในขั้นหยาบอื่น ๆ อันจะเป็นผลให้ต้องไปเกิดในอบายภูมิ (เดรัจฉาน, เปรต, อสุรกาย, นรก) ด้วย
2.) โสดาปัตติผลบุคคล หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าโสดาบัน คือผู้ที่ผ่านโสดาปัตติมรรคมาแล้ว
คุณสมบัติที่สำคัญของโสดาบันก็คือ
- พ้นจากอบายภูมิตลอดไป คือจะไม่ไปเกิดในอบายภูมิอีกเลย เพราะจิตใจมีความประณีตเกินกว่าที่จะไปเกิดในภูมิเหล่านั้นได้ (ใครจะไปเกิดในภูมิใดนั้น ขึ้นกับสภาพจิตตอนใกล้ตายที่เรียกว่ามรณาสันนวิถี ถ้าขณะนั้นจิตมีสภาพเป็นอย่างไร ก็จะส่งผลให้ไปเกิดใหม่ในภูมิที่มีสภาพใกล้เคียงกับสภาพจิตนั้นมากที่สุด)
- อีกไม่เกิน 7 ชาติจะบรรลุเป็นพระอรหันต์
- มีศรัทธาในพระรัตนตรัยอย่างมั่นคง ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน จะไม่คิดเปลี่ยนศาสนาอีกเลย
- มีศีล 5 บริบูรณ์ (ไม่ใช่แค่บริสุทธิ์) คือความบริสุทธิ์ของศีลนั้นเกิดจากความบริสุทธ์/ความประณีต ของจิตใจจริง ๆ ไม่ใช่ใจอยากทำผิดศีลแต่สามารถข่มใจไว้ได้ คือใจสะอาดจนเกินกว่าจะทำผิดศีลห้าได้
3.) สกทาคามีมรรคบุคคล หรือสกิทาคามีมรรคบุคคล คือบุคคลที่เจริญวิปัสสนาต่อไปอีกจนกระทั่ง มรรคจิตเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ที่เรียกว่าสกทาคามีมรรคจิต มรรคจิตในขั้นนี้ ไม่สามารถทำลายกิเลสตัวใหม่ให้หมดไปได้อย่างสิ้นเชิงเหมือนมรรคจิตขั้นอื่น ๆ เป็นแต่เพียงทำให้ โลภะ โทสะเบาบางลงเท่านั้น โดยเฉพาะกามฉันทะ และปฏิฆะ ถึงแม้ว่าความยึดมั่นที่มีอยู่จะน้อยลงไปก็ตาม ทั้งนี้เพราะกามฉันทะและปฏิฆะนั้นมีกำลังแรงเกินกว่า จะถูกทำลายไปได้ง่าย ๆ
4.) สกทาคามีผลบุคคล หรือสกิทาคามีผลบุคคล คือผู้ที่ผ่านสกทาคามีมรรคมาแล้ว
คุณสมบัติสำคัญของสกทาคามีผลบุคคลก็คือ ถ้ายังไม่สามารถบรรลุธรรมที่สูงขึ้นไปได้ในชาตินี้ ก็จะกลับมาเกิดในกามภูมิอีกเพียงครั้งเดียวก็จะบรรลุธรรมที่สูงขึ้นไปได้ แล้วจะพ้นจากกามภูมิตลอดไป เพราะอริยบุคคลขั้นนี้เป็นขั้นสุดท้ายที่จะเกิดในกามภูมิได้อีก
คำว่ากามภูมินั้นได้แก่ สวรรค์ 6 ชั้น มนุษยภูมิ เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย นรก แต่สกทาคามีบุคคลนั้นพ้นจากอบายภูมิไปแล้วตั้งแต่เป็นโสดาบัน จึงเกิดได้เพียงในสวรรค์ และมนุษย์เท่านั้น
5.) อนาคามีมรรคบุคคล คือบุคคลที่เจริญวิปัสสนาต่อไปอีกจนกระทั่ง มรรคจิตเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ที่เรียกว่าอนาคามีมรรคจิต ทำลายกิเลสได้เด็ดขาดเพิ่มขึ้นอีก 2 ตัวคือ
- กามฉันทะ
- ปฏิฆะ
6.) อนาคามีผลบุคคล คือผู้ที่ผ่านอนาคามีมรรคมาแล้ว
คุณสมบัติที่สำคัญของอนาคามีผลบุคคลคือ ถึงจะยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็จะไม่กลับมาเกิดในกามภูมิอีกเลย แต่จะไปเกิดในภูมิที่พ้นจากเรื่องของกามคือรูปภูมิ หรืออรูปภูมิเท่านั้น (ดูหัวข้อรูปราคะ และอรูปราคะในเรื่องสัญโยชน์ 10 ประกอบ)
ในรูปภูมิ 16 ชั้นนั้น จะมีอยู่ 5 ชั้นที่เป็นที่เกิดของอนาคามีผลบุคคลโดยเฉพาะ ซึ่งรวมเรียกว่าสุทธาวาสภูมิ ดังนั้น ในสุทธาวาสภูมิทั้ง 5 ชั้นนี้ จึงมีเฉพาะอนาคามีผลบุคคล อรหัตตมรรคบุคคล และพระอรหันต์ (ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ในภูมินี้แล้วยังมีชีวิตอยู่) เท่านั้น
สุทธาวาสภูมิ 5 ชั้นประกอบด้วย
- อวิหาภูมิ
- อตัปปาภูมิ
- สุทัสสาภูมิ
- สุทัสสีภูมิ
- อกนิฏฐาภูมิ
7.) อรหัตตมรรคบุคคล คือบุคคลที่เจริญวิปัสสนาต่อไปอีกจนกระทั่ง มรรคจิตเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ที่เรียกว่าอรหัตตมรรคจิต ทำลายกิเลสที่เหลือทุกตัวได้อย่างหมดสิ้น จนไม่มีกิเลสใด ๆ เหลืออีกเลย สัญโยชน์ที่มรรคจิตขั้นนี้ทำลายไป ได้แก่
- รูปราคะ
- อรูปราคะ
- มานะ
- อุทธัจจะ
- อวิชชา
8.) อรหัตตผลบุคคล หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าพระอรหันต์ คือผู้ที่ปราศจากกิเลสอย่างสิ้นเชิงแล้ว เพราะกิเลสตัวสุดท้ายถูกทำลายไปในขณะแห่งอรหัตตมรรคจิตที่ผ่านมาแล้ว เป็นผู้ที่พ้นจากทุกข์ทางใจทั้งปวง เพราะไม่ยึดมั่นในสิ่งใดเลย แต่ยังคงต้องทนกับทุกข์ทางกายต่อไป จนกว่าจะปรินิพพาน เพราะตราบใดที่ยังมีร่างกายอยู่ก็ไม่อาจพ้นจากทุกข์ทางกายไปได้
นิพพานนั้นมี 2 ชนิด คือ
- สอุปาทิเสสนิพพาน หรือนิพพานเป็น หมายถึงนิพพานที่ยังมีส่วนเหลือ คือกิเลสทั้งหลายดับไปหมดแล้ว พ้นจากทุกข์ทางใจทั้งปวงแล้ว แต่ยังมีร่างกายอยู่ ทำให้ต้องทนทุกข์ทางกายต่อไปอีก ได้แก่พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง
- อนุปาทิเสสนิพพาน หรือนิพพานตาย หมายถึงนิพพานโดยไม่มีส่วนเหลือ คือพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ทั้งทางกาย และทางใจอย่างสิ้นเชิง ได้แก่พระอรหันต์ที่ตายแล้วนั่นเอง ซึ่งเรียกได้อีกอย่างว่าปรินิพพาน (ปริ = โดยรอบ, ปรินิพพาน = นิพพานโดยรอบทุกส่วน คือทั้งร่างกายและจิตใจ คือนิพพานจากทุกข์ทั้งปวงนั่นเอง)
พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบ ชีวิตในวัฏสงสารว่า ปุถุชนทั้งหลายเหมือนผู้คนที่ผุด ๆ โผล่ ๆ อยู่กลางน้ำลึก ต้องทนทุกข์ทรมาน สำลักน้ำอยู่อย่างไม่รู้อนาคต ต้องเสี่ยงภัยจากปลาร้ายทั้งหลาย โสดาบันเปรียบเหมือนผู้ที่พยุงตัวพ้นจากผิวน้ำขึ้นมาได้ จนสามารถมองเห็นฝั่ง(แห่งพระนิพพาน) แล้วเตรียมตัวว่ายเข้าหาฝั่งนั้น สกทาคามีบุคคลเปรียบเหมือนผู้ที่กำลังว่ายเข้าหาฝั่ง อนาคามีบุคคลเปรียบเหมือนผู้ที่เข้าใกล้ชายฝั่งมาก คือถึงจุดที่น้ำตื้นพอที่จะหยั่งเท้าถึงพื้นดินได้ แล้วเดินลุยน้ำเข้าหาฝั่ง จึงพ้นจากการสำลักน้ำแล้ว พระอรหันต์เปรียบเหมือนผู้ที่เดินขึ้นฝั่งได้เรียบร้อยแล้ว พ้นจากอันตรายทั้งปวงแล้ว รอวันปรินิพพานอยู่
ท่านผู้อ่านอยากอยู่ในสภาพไหนก็เชิญเลือกเอาเองเถิด
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น